กระ การเกิด ป้องกันและแก้ไข

ใบหน้าเป็นด่านแรกในการสร้างความประทับใจ หน้าที่สดใสเกลี้ยงเกลาแบบสาวๆ kpop ช่วยสร้างความมั่นใจในยามพบปะแฟนเพลง แต่หากหน้าไม่สวยหมดจด เช่นว่ามีจุดสีน้ำตาลที่เรียกว่า “กระ” กระจายอยู่บนใบหน้าหรือโหนกแก้ม ย่อมบั่นทอนความมั่นหน้าของเราใช่ไหม
“กระ” เป็นจุดสีน้ำตาลอ่อนหรือสีเทาดำ ขึ้นเป็นหย่อมๆ บนผิวหนัง โดยเฉพาะใบหน้า ลำคอ และแขน เนื่องจากบริเวณนั้นมีเม็ดสีผิว (เมลานิน) ที่มากระจุกกันมากเกินปกติ โดยจะสะสมอยู่ที่ชั้นบนสุดของผิวหนังกำพร้า มักปรากฏให้เห็นมากที่สุดในคนที่มีผิวขาวแต่อย่างไรก็ตาม กระ สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกชาติพันธุ์รวมทั้งทุกวัย

สาเหตุของการเกิด “กระ” เป็นการผสมผสานกันของทั้งพันธุกรรมและการได้รับแสงแดดเป็นเวลานาน ในขณะที่ผิวหนังของเราต้องเผชิญกับรังสี UV จากดวงอาทิตย์ เซลล์เมลาโนไซต์ของผิวหนังจะมีกลไกการตอบสนองเพื่อป้องกันอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับเซลล์ โดยการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานินออกมาสะสมไว้เพื่อขวางกั้นรังสี UV มิให้ทะลุลงไปทำลาย DNA ในเซลล์ (ความเสียหายของ DNA จะนำไปสู่การเกิดมะเร็งได้) จินตนาการว่าแสง UV เป็นกระสุนทำร้ายเรา เราก็ต้องสร้างโล่ขึ้นมาป้องกัน ทีนี้โล่นี่มันสีดำ เลยทำให้ผิวดูคล้ำขึ้น
โดยอุดมคติเซลล์เมลาโนไซต์ควรจะมีการกระจายตัวอย่างสม่ำเสมอทำให้สีผิวสม่ำเสมอทั่วร่างกาย แต่ในบางคนเซลล์เมลาโนไซต์อาจกระจุกรวมกันบางแห่ง (กำหนดโดยกรรมพันธุ์) และทำให้การกระจายเม็ดสีไม่สม่ำเสมอ ทำให้ผิวเป็นกระเมื่อได้รับการกระตุ้นจากแสงแดด

วิธีทางเคมีในการลอกผิวภายนอกออก หรือยับยั้งการสร้างเมลานินก็สามารถช่วยบรรเทาอาการกระได้ ตัวอย่างสารที่ใช้ผลัดเซลล์ผิวชั้นหนังกำพร้าเช่น vitamin A acid, glycolic acid, salicylic acid และสารทียับยั้งการสังเคราะห์เม็ดสีเมลานิน เช่น ไฮโดรควิโนน (Hydroquinone), arbutin, kojic acid, licorice, ทรานซามีน
การใช้สารกลุ่มพวกนี้จะช่วยลดความเข้มกระได้ แต่ก็อาจทำให้ผิวตอบสนองต่อ UV มากขึ้นได้ สารบางอย่างเช่นไฮโดรควิโนนได้ถูกสั่งห้ามใส่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่วางจำหน่ายทั่วไป ยกเว้นในคลินิกที่จ่ายยารักษาฝ้าโดยแพทย์ยังอนุโลมให้จ่ายให้ได้ตามความเหมาะสมตามดุลยพินิจของคุณหมอ
สารอื่นๆเช่น Arbutin, Kojic acid, Licorice PT 40 ปลอดภัยกว่าแต่ก็ประสิทธิภาพต่ำกว่าในขณะที่ราคาสูงกว่า
ทั้งนี้ควรระวังการหาครีมทาทาฝ้ามาใช้เอง เพราะก่อให้เกิดอันตรายได้ง่ายเนื่องจากมาใส่ในประมาณที่สูงเกินเกณฑ์ที่กำหนด

การรักษาด้วยเลเซอร์เป็นการใช้พลังงานแสงความยาวคลื่นเดียวที่มีความเข้มสูง ยิงไปยังบริเวณผิวหนังที่มีจุดกระ เม็ดสีส่วนเกินจะดูดซับพลังงานแสงและแตกสลายไป เลเซอร์ที่มีประสิทธิภาพในการรักษากระ เช่น 1,064 nm Q-switched Nd:YAG Laser และ คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ (CO2 laser) การรักษาด้วยเลเซอร์นั้นปลอดภัย ความเสี่ยงในการเกิดแผลเป็นต่ำ อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้จึงต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
แม้ว่าการรักษาด้วยเลเซอร์จะมีประสิทธิภาพสูงกว่าการรักษาวิธีอื่นแต่ค่าใช้จ่ายก็ค่อนข้างสูง ถ้าไม่ได้รวยการไปยิงเลเซอร์คอร์สนึงอาจทำให้กระเป๋าฟีบไปเลย นอกจากนั้นยังมีโอกาสโดยเซลล์หลอกขายคอร์สที่ไม่เกี่ยวข้องอีกด้วย การป้องกันแสงแดดจึงเป็นวิธีที่สำคัญที่สุด โดย American Academy of Dermatology (ADD) แนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแดดที่ SPF 30 ขึ้นไป ควรทาผลิตภัณฑ์อย่างน้อย 15 นาที ก่อนเผชิญกับแสงแดดเพื่อประสิทธิภาพในการปกป้องผิวได้เต็มที่ และควรทาทุกวันแม้วันที่ไม่มีแสงแดด
แม้ว่าผลิตภัณฑ์ครีมกันแดดจะไม่ใช่ผลิตภัณฑ์สำหรับกำจัดกระให้หายไปโดยตรง แต่จะช่วยป้องกันการเกิดใหม่ และสำหรับคนที่มีแนวโน้มผิวเป็นกระ (สังเกตจากบุคคลสูงอายุในครอบครัว) ควรที่จะเริ่มใช้ครีมกันแดดโดยเร็วที่สุด
ครีมกันแดดที่ใช้ควรจะมีลักษณะที่ทำให้เราทำได้มากพอจะกันแดดได้ และใช้ได้ตลอดครับ
#prionie #invisible_sunscreen #เจลใสกันแดด