top of page
  • SPF เท่าไรถึงพอ? ยิ่งมากยิ่งดีจริงเหรอ
    SPF นั้นย่อมาจาก Sunburn Protection Factor เป็นค่าที่บอกความสามารถของครีมกันแดดในการป้องกันการไหม้แดงของผิว ซึ่งเกิดจาก รังสียูวีบี (UVB) โดยตัวเลขที่ตามหลังค่า SPF ยิ่งมีค่ามากยิ่งสามารถปกป้องผิวจากแสงแดดได้นานขึ้น สมมติตัวอย่างหากโดยปกติเรายืนอยู่กลางแดด 10 นาที แล้วผิวจะมีอาการไหม้แดง ถ้าหากทาครีมกันแดด SPF 15 โดยทฤษฎีแล้วจะสามารถช่วยให้อยู่กลางแดดได้นานขึ้นเป็น 10x15=150 นาที ก่อนจะมีอาการไหม้แดง อย่างไรก็ตามการยืนกลางแดดแล้วผิวจะไหม้แดงภายใน 10-20 นาทีหรือไม่นั้น ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นกับสีผิว (บุคคลที่ผิวสีเข้มจะทนทานแสงแดดได้มากกว่า) และหากจะเทียบค่า SPF กับปริมาณการดูดซับรังสี UVB พบว่า ค่า SPF เท่ากับ 2 จะดูดซับ UVB ได้ 50% ค่า SPF เท่ากับ 4 จะดูดซับ UVB ได้ 75% ค่า SPF เท่ากับ 8 จะดูดซับ UVB ได้ 87.5% ค่า SPF เท่ากับ 15 จะดูดซับ UVB ได้ 93.3% ค่า SPF เท่ากับ 20 จะดูดซับ UVB ได้ 95% ค่า SPF เท่ากับ 30 จะดูดซับ UVB ได้ 96.7% ค่า SPF เท่ากับ 45 จะดูดซับ UVB ได้ 97.8% ค่า SPF เท่ากับ 50 จะดูดซับ UVB ได้ 98% จะเห็นว่า ค่า SPF ที่สูงเกิน 30 ขึ้นไป จะมีความสามารถในการปกป้องผิวจากรังสี UVB ได้แทบไม่แตกต่างกัน ยิ่งค่า SPF สูงจะพบว่าผลิตภัณฑ์มีความมันและเหนอะหนะ และการใช้ผลิตภัณฑ์กันแดดที่มีค่าสูงกว่า 50 อาจไม่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน
  • ค่า PA ที่มีเครื่องหมาย + หลายๆตัวคืออะไร
    PA (Protection grade of UVA) ซึ่งเป็นค่าการป้องกันรังสี UVA ริเริ่มโดยสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องสำอางประเทศญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 2006 มักใช้กันในเกาหลีและญี่ปุ่น โดยมีประสิทธิภาพดังต่อไปนี้ PA+ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA เริ่มต้น PA++ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA กลาง PA+++ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA สูง PA++++ หมายถึง มีประสิทธิภาพในการป้องกันรังสี UVA สูงสุด
  • เลือกผลิตภัณฑ์กันแดดอย่างไรดี
    การเลือกผลิตภัณฑ์กันแดดให้พิจารณาจากค่า SPF ตามลักษณะกิจวัตรประจำวัน ซึ่งโดยทั่วไปผู้ที่ทำงานในออฟฟิต อาจใช้ SPF 15-20 ซึ่งเนื้อสัมผัสจะไม่เหนอะหนะมาก ในขณะที่ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้งต้องใช้ SPF สูงกว่า 30 ขึ้นไป และให้พิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปกป้องรังสี UVA ซึ่งควรมีระดับการป้องกันสูง PA+++ ขึ้นไป นอกจากนี้จะต้องคำนึงถึงกิจกรรมที่ทำด้วย เช่นการเล่นน้ำทะเลหรือทำกิจกรรมทางน้ำ ควรเลือกสารกันแดดแบบ Waterproof ที่จะรักษาค่า SPF ไว้ให้คงประสิทธิภาพเดิมหลังโดนน้ำไป 80 นาที กรณีที่มีเหงื่อออกบ่อย ให้เลือกสารกันแดดแบบ Water-resistant ที่จะรักษาค่า SPF ไว้ให้คงประสิทธิภาพเดิมหลังโดนน้ำไป 40 นาที ซึ่งเป็นเหตุผลหนึ่งที่ฉลากบนผลิตภัณฑ์กันแดดบอกให้ผู้ใช้ทาซ้ำทุก ๆ 2 ชั่วโมง
  • ทาผลิตภัณฑ์กันแดด จำเป็นแค่ไหน
    ประเทศไทย ถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีค่าความเข้มข้นของรังสียูวี (UV index) ระดับ สูง โดยเฉพาะในช่วงเวลา 10 - 16 นาฬิกา โดยการได้รับรังสียูวี 20-30 นาที ทำให้เกิดการไหม้ของผิวหนัง และเกิดความหมองคล้ำหลังการสัมผัสรังสียูวีเป็นเวลา 30-60 นาที ผลิตภัณฑ์กันแดดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อป้องกันอันตรายจากการไหม้แดด ส่งผลในการป้องกันการเกิดฝ้า จุดด่างดำ ริ้วรอยก่อนวัย และที่สำคัญคือลดโอกาสการเกิดมะเร็งผิวหนัง ถ้าต้องเลือกเครื่องสำอาง 1 อย่าง ผลิตภัณฑ์กันแดดคืออย่างแรกที่จำเป็นต้องเลือก จำไว้ว่าบำรุงร้อยวันไม่สู้ไม่ไปตากแดดจัดวันเดียว
  • กดไกการทำงานของ sunscreen ประเภทต่างๆ ต่างกันอย่างไร
    ครีมกันแดดมีส่วนผสมของสารออกฤทธิ์ป้องกันแสง UV แบ่งเป็น 2 ประเภทตามลักษณะกลไกการออกฤทธิ์ คือ · Physical sunscreen ใช้กลไกลสะท้อนรังสียูวี · Chemical sunscreen กลไกลดูดกลืนรังสียูวี ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Chemical sunscreen จะระบุให้ทาลงบนผิวหนังก่อนการออกเผชิญแสงแดด อย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้สารกันแดดซึมลงบนชั้นผิวหนังก่อนจึงจะมีประสิทธิภาพในการดูดซับรังสี UV ที่มาตกกระทบบนผิวหนัง ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของ Physical sunscreen สามารถออกไปเผชิญแสงแดดได้ทันทีภายหลังการทา แต่ก็มักเหนียวและสร้างคราบขาวบนใบหน้า ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้ระยะเวลารอของ Chemical sunscreen น้อยลง และ Physical sunscreen มีความขาวน้อยลงบ้าง สุดท้ายแล้วจะเลือกใช้แบบไหนแล้วแต่ความชอบและ lifestyle ของแต่ละคน ที่สำคัญคือต้องใช้สม่ำเสมอ
  • ผลิตภัณฑ์สารกันแดดส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร ทำประการังตายไหม
    ครีมกันแดดกับการเที่ยวทะเลเป็นของคู่กัน เพราะคงไม่มีใครอยากได้รอยเบิร์นแดดหรือสีผิวด่างดำกลับมาเป็นของฝากจากการท่องเที่ยว แต่รู้ไหมว่า ครีมกันแดดที่ปกป้องผิวของเรา กลับไปทำร้ายปะการังในท้องทะเล เพราะเวลาเราลงไปเล่นน้ำทะเลหรือกระทั่งดำน้ำไปดูปะการัง น้ำทะเลจะชะล้างครีมกันแดด บางส่วนจากผิวของเรา ทำให้ครีมกันแดดปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเล ครีมกันแดดที่ขายทั่วไปในท้องตลาดนั้นมีสารเคมีจำนวนมากที่เป็นอันตรายต่อปะการังโดยที่ร้ายแรงที่สุดคือสารเคมีสำหรับป้องกันรังสียูวีบางชนิด ซึ่งมีฤทธิ์หยุดยั้งการเจริญเติบโตของตัวอ่อนปะการัง ก่อให้เกิดการฟอกขาวในปะการัง รวมทั้งเปลี่ยนแปลง DNA และรบกวนระบบสืบพันธุ์ของปะการัง จึงได้มีประกาศกรมอุทยานแห่งชาติฯ ห้ามนําและใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนประกอบของสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อปะการังเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ คือ 1. Oxybenzone (Benzophenone-3, BP-3) 2. Octinoxate (Ethylhexyl methoxycinnamate), 3. 4-Methylbenzylid Camphor (4MBC) 4. Butylparaben ผลิตภัณฑ์ Prionie เจลใสกันแดด invisible sunscreen ปราศจากสารกันแดดที่เป็นอันตรายต่อปะการัง
  • รังสีจากดวงอาทิตย์มีอะไรบ้าง ต่างกันอย่างไร ทำร้ายผิวอย่างไรบ้าง
    คำถามนี้จริงๆทุกๆคนคงเคยได้เรียนมาแล้ว แต่มาทบทวนกันดีกว่า รังสีจากดวงอาทิตย์ จะเดินทางจากอวกาศผ่านชั้นบรรยากาศมาถึงผิวโลกจะถูกกระจายและดูดกลืนโดยโมเลกุลของก๊าซต่างๆ อนุภาคฝุ่น และเมฆที่อยู่ในชั้นบรรยากาศ การแบ่งรังสีดวงอาทิตย์ตามคุณสมบัติและช่วงคลื่นได้แก่ รังสีแสงสว่าง (Visible Radiation) แสงสว่างเป็นรังสีที่มองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ช่วงสเปคตรัมของแสง จะอยู่ในช่วง 400-800 ซึ่งทำให้เรามองเห็นวัตถุต่างๆ มีสีสัน รังสีอัลตราไวโอเลต (Ultra-violet, UV) เป็นรังสีที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แบ่งออกเป็น 3 ช่วง คือ UV-A: ความยาวคลื่น 315-400 นาโนเมตร สามารถทะลุชั้นบรรยากาศและก้อนเมฆลงมาได้ สามารถผ่านทะลุกระจกได้ แม้เราอยู่ในอาคาร และเข้าสู่ผิวหนังชั้น dermis คนเราจึงได้รับรังสีชนิดนี้มากกว่าชนิดอื่น ๆ ทำให้เกิดผิวคล้ำแดด เพราะแสงจะกระตุ้นการสร้างเมลานิน แต่ไม่ทำให้เกิดการอักเสบ การได้รับรังสี UV-A เป็นระยะเวลานานทำให้เกิดริ้วรอย ฝ้า กระ จุดด่างดำ และความชราของผิวหนัง (Aging) สามารถไปกดภูมิต้านทานของผิวหนัง อันส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถปกป้องผิวจากการเกิดและแพร่กระจายของมะเร็งผิวหนังได้ UV-B: ความยาวคลื่น 280-315 นาโนเมตร มีประมาณ 5% ในแสงอาทิตย์ สามารถถูกกรองโดยชั้นบรรยากาศและก้อนเมฆได้เล็กน้อย รังสีนี้ไม่สามารถทะลุกระจก หรือทะลุเข้ามาในอาคารได้ อย่างไรก็ตามเมื่อเรายืนอยู่ในที่โล่งแจ้ง รังสี UVB จะเป็นสาเหตุให้เกิดผิวไหม้แดด เกรียมแดด (Burning) UV-C: ความยาวคลื่น 100-280 นาโนเมตร โดยปกติแล้ว รังสี UVC ถูกดูดกลืนโดยชั้นบรรยากาศทั้งหมดไม่พบที่ผิวพื้นโลก เว้นแต่บางพื้นที่ของโลกที่ชั้นบรรยากาศเป็นช่องโหว่ อาจมีรังสี UVC ผ่านลงมาได้ ซึ่ง UVC เป็นสาเหตุหนึ่งของมะเร็งผิวหนัง รังสีอัลตราไวโอเลตทั้งสามชนิดคือ UVA, UVB และ UVC สามารถทำให้คอลลาเจนในผิวหนังเสื่อมสภาพได้ ซึ่งเป็นเหตุหนึ่งให้เกิดริ้วรอยก่อนวัย ผิวหนังมีระบบตอบสนองต่อรังสี UV เพื่อป้องกันการไหม้แดดและป้องกันการทำลาย DNA ดยการสร้างเม็ดสีเมลานินขึ้นมาเป็นเกราะป้องกันการทะลุทะลวงของรังสี UV จึงทำให้ผิวคล้ำดำมากขึ้น
bottom of page